เสื้อโปโล มาจากไหน? และอะไรทำให้มันได้รับความนิยม?
12 Jun 2019
เสื้อโปโลเป็นหนึ่งในแฟชั่นเครื่องแต่งกายที่สุดแสนจะคลาสสิกและเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวางทั้งในวงการแฟชั่นและกีฬา แต่ทำไมเราถึงเรียกเจ้าเสื้อยืดคอปกนี้ว่า “ เสื้อโปโล ” ?
เรื่องราวของเสื้อโปโลเริ่มต้นขึ้นราวศตวรรษที่ 19 จากการที่ทหารอังกฤษปรับเปลี่ยนเสื้อกีฬาโปโลของพวกเขาในขณะที่ประจำการในประเทศอินเดีย จากวันนั้นถึงตอนนี้เสื้อโปโลได้กลายเป็นตัวเลือกหนึ่งในเครื่องแต่งกายตั้งแต่ระดับประธานาธิบดีไปจนถึงเป็นเสื้อผ้าอเนกประสงค์ที่ทุกคนสวมใส่จนกระทั่งทุกวันนี้ ในความเป็นจริงแล้วจุดเริ่มต้นที่ชัดเจนแล้วไม่มีใครทราบ
แต่มีบันทึกอย่างแพร่หลายว่า เกิดขึ้นในช่วงต้นของศตวรรษที่ 19 ที่เมือง Manipur ประเทศอินเดีย แหล่งกำเนิดของกีฬาโปโล หลังจากที่ทหารอังกฤษได้ดูการแข่งขันโปโลในขณะที่พวกเขาประจำการอยู่ที่เมืองนี้ พวกเขาก็ได้ก่อตั้งสโมสรโปโลแห่งแรกขึ้นในเวลานั้น
โปโลเริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้นในหมู่ผู้เล่นที่เป็น ทหารและผู้ปลูกชาชาวอังกฤษ และจากความนิยมนี้เองทำให้เริ่มมีการพัฒนาปรับปรุงอุปกรณ์และเครื่องแต่งกายเพื่อใช้ในการเล่นกีฬาโปโลโดยเฉพาะ โดยเสื้อทำจากผ้าฝ้ายเนื้อหนา แขนยาว และติดกระดุมระหว่างปกกับตัวเสื้อเพื่อช่วยป้องกันไม่ให้ปกกระพือเพราะแรงลม ขณะเล่นอยู่ในสนาม
กีฬาโปโลก็ได้ถูกนำเข้าไปที่ อังกฤษ ในปี 1862 และในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 John E Brooks หลานชายผู้ก่อตั้งบริษัท Brooks Brothers ในสหรัฐอเมริกา ในขณะที่เขานั่งดูการแข่งขันโปโลที่อังกฤษอยู่นั้น เขาได้สังเกตเห็นถึงสิ่งพิเศษที่สร้างความประหลาดใจและประทับใจ ซึ่งก็คือกระดุมที่ยึดระหว่างปกกับตัวเสื้อเพื่อช่วยลดการกระพือในขณะเล่น และจากความประทับใจนี้เอง เขาจึงนำแนวความคิดนี้กลับไปที่บริษัท และจัดการติดกระดุมเข้ากับปกเสื้อเชิ้ตของเขา โดยเขาได้นำเสื้อออกขายในปี1896 และกลายเป็นสัญลักษณ์ของเสื้อเชิ้ตแบบเป็นทางการ ซึ่งเป็นการพลิกโฉมหน้าของวงการเครื่องแต่งกายชายไปตลอดกาล และเสื้อเชิ้ตนี้ยังได้รับการกล่าวถึงว่า “เสื้อที่ถูกเลียนแบบมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของวงการแฟชั่น” Brooks Brothers ยังคงเรียกเสื้อเชิ้ตของพวกเขาว่า เสื้อโปโลดั้งเดิม ( The Original Polo-Shirt )
ปี 1926 บุคคลที่มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อรูปแบบของเสื้อโปโลที่เราเห็นอยู่ในปัจจุบันนี้ก็คือ ตำนานนักเทนนิสชาวฝรั่งเศส Jean Rene Lacoste (1904 – 1996) ผู้ซึ่งได้รับการยกย่องในฐานะเป็นผู้ประดิษฐ์คิดค้น เสื้อโปโลสมัยใหม่ ชุดแต่งกายของนักเทนนิสในยุคนั้นก็คล้ายกับชุดแต่งกายของนักโปโล คือ สวมใส่ไม่สบายและไม่คล่องตัว ชุดแต่งกายของนักเทนนิสในช่วงต้นปี 1900 ที่นิยมจะมีลักษณะเป็นเสื้อเชิ้ตแขนยาวสีขาว ซึ่งผู้สวมใส่มักจะพับแขนเสื้อขึ้นเวลาสวมใส่ พร้อมด้วยกางเกงผ้าสักหลาดขายาวและเน็คไท เนื่องเพราะแต่เดิมกีฬาเทนนิสเป็นกีฬาของชนชั้นสูง รูปแบบเครื่องแต่งกายจึงเน้นให้ดูภูมิฐานมากกว่าการใช้งานได้จริง แต่เมื่อเทนนิสเริ่มมีแข่งขันแพร่หลายมากขึ้น ผู้เล่นก็เริ่มที่จะมองหาเครื่องแต่งกายที่ดูเหมาะสมมากขึ้น
และก็เป็นนักเทนนิสหมายเลข 1 ของโลก ณ ตอนนั้น Lacoste เขาได้ตัดสินใจ ที่จะไม่สวมใส่เสื้อเชิ้ตที่จะต้องพับแขนลงบนคอร์ดอีกต่อไป โดยได้ออกแบบเสื้อแขนสั้น ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงปก ที่จากเดิม เป็นแบบอัดแข็ง มาเป็นปกที่ใช้การทอแบบใหม่ รวมทั้ง ออกแบบให้เสื้อด้านหลังยาวกว่าด้านหน้าแล้วขนานนามมันว่า tennis tail เพื่อให้ สวมใส่ได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม
อีกหนึ่งนวัตกรรมที่สำคัญมาก ของเสื้อโปโลก็คือ การคิดค้น การใช้ผ้าปิเก้ Cotton ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ใหม่มาก ในยุคนั้น มาทำเป็น ชุดเสื้อกีฬาเทนนิส นอกจากเสื้อจะมีความทนทานแล้ว จุดเด่นอีกอย่างหนึ่งของผ้าชนิดนี้ก็คือ การระบายอากาศที่ดีทำให้สวมใส่สบายและมีความคล่องตัวสูง รวมเข้ากับการออกแบบที่โดดเด่นของ Lacoste แล้ว ทำให้ เสื้อโปโลได้รับความนิยมมากกว่าเสื้อเทนนิสแบบดั้งเดิม แล้วเขาก็ขนานนามมันว่า crocodile และเขาก็ได้ปัก Crocodile logo ลงบนเสื้อของเขา และนี่นับเป็นจุดเริ่มต้น ของ เสื้อโปโล และเสื้อกีฬาที่มีแบรนด์อย่างแท้จริง
Lacoste ได้ใส่เสื้อของเขาลงแข่ง ในรายการ US Open Championship ในปี 1926 เขาได้รับชัยชนะอย่างสวยงาม โดยรูปแบบ ของเสื้อได้ทำให้นักกีฬาคนอื่นๆเริ่มที่จะเปลี่ยนชุดกีฬาแบบดั้งเดิมของตนเองมาเป็นแบบเสื้อเทนนิสของ Lacoste นอกจากนักเทนนิสแล้วนักกีฬาโปโลก็ได้ดัดแปลงผ้า Pique Cotton นี้ ให้สามารถที่จะยกปกเสื้อขึ้นเพื่อป้องกันผิวไหม้ได้
ในปี 1933 Lacoste และเพื่อนของเขา Andre Gillier ได้ร่วมกันก่อตั้งบริษัท La Societe Chemise Lacoste ขึ้นเพื่อผลิตเสื้อโปโลปกทอ คล้ายกับที่เขาใส่แข่งชนะในปี 1926 และเสื้อโปโลก็ได้กลายเป็นเครื่องแต่งกายสุดคลาสสิคปลายปี 1940 นี่เอง "เสื้อโปโล" ถูกนิยามว่าเป็นเสื้อเชิ้ตที่มีปกทอแบบนุ่มนวล ที่ไม่ใช่เพียงแค่นักกีฬาโปโลอย่างเดียว แต่รวมถึงทุกคนที่สวมใส่เสื้อเชิ้ตปกทอแบบนี้ด้วย
ในปี 1951 Lacoste ก็ได้เกิดไอเดียที่จะทำเสื้อโปโลหลายหลากสีจากเดิมที่ทำแค่โปโลเทนนิสสีขาวเพียงอย่างเดียว Lacoste เริ่มขยายไปทั่วอเมริกา และเกิดความนิยมอย่างรวดเร็ว ด้วยสโลแกนที่ว่า " the status symbol of the competent sportman" เสื้อโปโลได้ถูกตั้งราคาไว้ถึง 8 Dollars ต่อตัว แต่ก็ยังคงได้รับความนิยม เพิ่มมากขึ้นไปอีก เมื่อถูกวางจำหน่ายใน ห้างสรรพสินค้าระดับไฮเอนด์อย่าง madison Avenues
ในปี 1953 เสื้อโปโลได้กลายเป็นเครื่องแต่งกายของบุคคลที่มีชื่อเสียงและได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นเมื่อประธานาธิบดีสหรัฐ Dwight Dwight เลือกที่จะใส่เสื้อโปโลของ Lacoste ในขณะที่เล่นกอล์ฟ
และในช่วงเวลาที่ไม่ห่างกันนัก ( ปี1954 ) Fred Perry ตำนานอีกคนหนึ่งของวงการเทนนิสก็ได้ ตัดสินใจที่จะเริ่มทำเสื้อ Lacoste ในแบบของตนเองโดยเลือกเนื้อผ้า Pique Cotton เหมือนกัน แต่ได้เพิ่มดีไซน์โดยการเย็บโลโก้ลงบนเนื้อผ้าแทนที่จะใช้การรีดเหมือนของ Lacoste
เสื้อโปโลของ Fred Perry ได้รับความนิยมเทียบเคียงกับเสื้อโปโลแบบดั้งเดิมของ Lacoste และได้กลายเป็นทางเลือกของวัยรุ่นในยุคนั้นนับเป็นจุดเริ่มของการก้าวกระโดดจากเสื้อกีฬาเพื่อความเป็นเลิศ เข้าสู่ความเป็นแฟชั่นของเสื้อผ้ากีฬาแม้ว่าการดัดแปลง เสื้อโปโล Lacoste ของนักกีฬาโปโล จะทำให้เสื้อโปโลเป็นที่รู้จักในวงกว้าง อย่างไรก็ตามคนที่ทำให้เสื้อโปโล พุ่งขึ้นสู่จุดสูงสุดก็คือชาวนิวยอร์กนามว่า Ralph Lauren นั่นเอง
อีก 1 หน้าเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ของเสื้อโปโลที่สำคัญเกิดขึ้นในปี 1972 เมื่อ Ralph Lauren ต้องการที่จะสร้างแบรนด์เสื้อผ้าใหม่ของเขา โดยเน้นความเรียบหรู และความเป็นอมตะคลาสสิค เขาจึงตั้งชื่อแบรนด์ของเขาว่า " Polo " ตามกีฬาโปโลซึ่งเป็นของผู้มั่งคั่งและชนชั้นสูงในยุคก่อน Ralph Lauren ได้รวมเสื้อโปโลเป็นส่วนหนึ่งของแบรนด์เครื่องแต่งกาย Polo ซึ่งทำให้เขาได้รับความนิยมตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
ในช่วงปี 1980 เป็นทศวรรษที่เสื้อโปโลของ Lacoste และ Ralph Lauren ได้ต่อสู้เพื่อแย่งชิงเงินของชาวอเมริกัน ด้วยการสร้างแบรนด์ที่เหนือกว่าทำให้ Ralph Lauren เหนือกว่า Lacoste ซึ่งเริ่มอิ่มตัวในตลาดเสื้อโปโล และทันใดนั้น เสื้อโปโล ก็กลายมาเป็น หนึ่งในเครื่องแต่งกาย ของวิถีชีวิตชาวอเมริกันที่เราเรียกว่า American Classic
ในช่วงปี 1990 เสื้อโปโลก็ได้กลายมาเป็น ชุดพนักงานแบบไม่เป็นทางการในอุตสาหกรรมไฮเทคก่อนที่ต่อมาจะแพร่หลายไปยังอุตสาหกรรมอื่นๆ บริษัทต่างๆเริ่มที่จะปักชื่อของตนเองหรือโลโก้ลงบนเสื้อโปโล นับแต่นั้นเป็นต้นมา